เคยสงสัยกันไหม? กระดาษขนาด A4 มีที่มาอย่างไร

กระดาษขนาด A4 มีที่มาอย่างไร

เคยสงสัยกันไหม? กระดาษขนาด A4 มีที่มาอย่างไร

กระดาษขนาด A4 ที่ใช้กันอยู่แทบทุกวันนี้ เป็นขนาดที่ผ่านกระบวนการคิดมาไม่น้อย กว่าจะได้ขนาดกว้าง 210 mm ยาว 297 mm นี่ก็ต้องมองย้อนกลับไปถึงเรื่องเทคนิคการพิมพ์ด้วย

อย่างแรกเลยคิดว่าคงรู้กันดีอยู่แล้วว่ากระดาษขนาด A4 พับครึ่งแล้วจะได้ขนาดสำหรับกระดาษ A5 และในทางกลับกันหากขยาย A4 ให้มีขนาดเป็น 2 เท่า มันก็คือขนาดของกระดาษ A3 นั่นแหละ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องนึกสนุกแล้วจะกำหนดมาตรฐานกันเฉยๆ แต่เป็นเพราะความตั้งใจกำหนดมาตรฐานกระดาษเป็น Series โดยวางเงื่อนไขไว้ 2 อย่าง

1. กระดาษขนาดต่างๆ ใน Series นี้จะมีสัดส่วน กว้าง:ยาว เท่ากันเสมอ
2. ขนาดกระดาษแต่ละลำดับให้มีขนาดลดหลั่นลงเป็นครึ่งต่อครึ่ง

เงื่อนไขข้อแรกนี้มีเพื่อที่ว่าเมื่อจัดเนื้อหาสำหรับพิมพ์ได้แล้ว สามารถจัดพิมพ์ในกระดาษแต่ละขนาดได้หมดโดยไม่ต้องแก้เลย์เอาท์ใหม่ทุกครั้งที่จะย่อหรือขยาย ส่วนข้อที่ 2  นี่ก็คงเอาที่ “คิดว่าดี” ตรงที่พับครึ่งแล้วได้กระดาษขนาดถัดไปเลย

คราวนี้ว่ากันตามเงื่อนไข 2 ข้อที่กล่าวมา ก็มีการตั้งมาตรฐานขนาดกระดาษตาม ISO ขึ้นมา 2 ระบบ คือ Series A กับ Series B โดยต่างก็มีสัดส่วนของ กว้าง:ยาว ของกระดาษเป็น 1:√2 (พอพับครึ่งตามยาว ก็จะได้สัดส่วนกระดาษเท่าเดิมเด๊ะ) เหมือนกันทั้ง 2 ระบบ

สำหรับ Series ตัว A นี้ก็เริ่มที่กระดาษขนาด A0 เป็นตัวตั้งต้น โดยคนคิดเค้าได้กำหนดให้มีขนาดเท่ากับ 1 ตารางเมตรพอดีเป๊ะ เมื่อไล่เรียงขนาดกระดาษไปตามลำดับ ก็จะได้ว่า

  • กระดาษ A1 จะมีขนาด 1/2 ตารางเมตร
  • กระดาษ A2 จะมีขนาด 1/4 ตารางเมตร
  • กระดาษ A3 จะมีขนาด 1/8 ตารางเมตร
  • กระดาษ A4 จะมีขนาด 1/16 ตารางเมตร
  • กระดาษ A5 จะมีขนาด 1/32 ตารางเมตร
  • กระดาษ A6 จะมีขนาด 1/64 ตารางเมตร
  • ไล่อย่างงี้ไปเรื่อยๆ
กระดาษขนาด A0-A8

ทีนี้ว่าด้วยเรื่องของการกำหนดวิธีเรียก basis weight ของกระดาษ (แบบที่น่าจะเคยได้ยินว่ากระดาษ 70 แกรม, กระดาษ 80 แกรม) ซึ่งจะบอกว่ามีมวลกี่กรัมต่อกระดาษ 1 ตารางเมตร (gsm:gram per square meter) จะได้ว่ากระดาษ 80 gsm ขนาด A0 จะมีมวล 80 กรัม ถ้าเป็นกระดาษ A4 จำนวน 16 แผ่นรวมกันก็ควรจะได้ 80 กรัมด้วยเช่นกัน

มาดูตระกูล B กันบ้าง ถึงแม้จะมีสัดส่วน กว้าง:ยาว เป็น 1:√2 เหมือนกับตระกูล A แต่ขนาดกระดาษ B0 นั้นถูกกำหนดจากความกว้างเป็นหลัก (ต่างจากตระกูล A ที่เอาพื้นที่กระดาษเป็นตัวตั้ง) ซึ่งกระดาษ B0 นั้นจะมีความกว้างเป็น 1 เมตรพอดี

กระดาษขนาด B0-B8

หลังจากนั้นก็ยังมีคนอุตส่าห์สร้างขนาดกระดาษตระกูล C ขึ้นมาอีก (ถึงจะไม่ค่อยนิยมกันเท่าไหร่ก็เหอะ) ซึ่งสัดส่วน กว้าง:ยาว ยังเท่าเดิม แต่ขนาดกระดาษนั้นใช้วิธีเฉลี่ยเอาจากตระกูล A กับ B ว่าง่ายๆ ก็คือ C0 นั้นจะมีขนาดกึ่งกลางระหว่าง A0 กับ B0 นั่นแล (และ C1, C2, C3, ….  ก็ไล่เรียงกันไปแบบเดียวกัน)

สรุปว่าเช่นนี้แล้ว คราวหน้าซื้อกระดาษ A4 มา 1 รีม (โดยทั่วไปก็ 500 แผ่น แต่อาจมีเกินมา 1 แผ่น, 2 แผ่น, ฯลฯ ซึ่งเป็นผลมาจากการเลือกใช้เครื่องตัด เอาไว้อธิบายทีหลัง) ก็สามารถชั่งดูได้ว่าหนักกี่กิโลกรัม และก็จะพอบอกได้แล้วว่ากระดาษยี่ห้อนั้นๆ ทำมาได้ basis weight ตามมาตรฐานมั้ย

ถ้าเอาแบบเป๊ะๆ กระดาษ 80 gsm จำนวน 1 รีม ก็ควรจะมีมวลเท่ากับ 500*80/16 = 2,500 กรัม ล่ะนะ

ที่มา: http://taroangtoang.blogspot.com/2015/03/a4.html

บทความที่เกี่ยวข้อง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *